วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการสอนทักษะเขียนภาษาอังกฤษ (Writing Skill)

               การเขียน คือ การสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดความคิดของผู้ส่งสารคือผู้เขียนไปสู่ผู้รับสารคือ ผู้อ่าน มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้คำและหลักไวยากรณ์ หรือ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การเขียนเป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นความคล่องแคล่ว
(Fluency) ในการสื่อความหมาย มากกว่าความถูกต้องของการใช้ภาษา (Accuracy) อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอนทักษะการเขียน ยังจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสร้างระบบในการเขียน จากความถูกต้องแบบควบคุมได้ (Controlled Writing) ไปสู่การเขียนแบบควบคุมน้อยลง (Less Controlled Writing)  
อันจะนำไปสู่การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing) ได้ในที่สุด
       การฝึก ทักษะการเขียนสำหรับผู้เรียนระดับต้น สิ่งที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด คือ ต้องให้ผู้เรียนมีข้อมูลเกี่ยวกับ คำศัพท์ ( Vocabulary) กระสวนไวยากรณ์ ( Grammar Pattern) และเนื้อหา
(Content) อย่างเพียงพอที่จะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนสามารถคิดและเขียนได้ ซึ่งการสอนทักษะการเขียนในระดับนี้ อาจมิใช่การสอนเขียนเพื่อสื่อสารเต็มรูปแบบ แต่จะเป็นการฝึกทักษะการเขียนอย่างเป็นระบบที่ถูกต้อง อันเป็นรากฐานสำคัญในการเขียนเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับ สูงได้ต่อไป ครูผู้สอนควรมีความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการ เขียนให้แก่ผู้เรียนได้อย่างไร 
ผู้เรียนจึงจะมีทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
          เทคนิควิธีปฎิบัติ
การฝึกทักษะการเขียน มี 3 แนวทาง คือ
            1. การเขียนแบบควบคุม (Controlled Writing) เป็นแบบฝึกการเขียนที่มุ่งเน้นในเรื่องความถูกต้องของรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนรูปทางไวยากรณ์ คำศัพท์ในประโยค โดยครูจะเป็นผู้กำหนดส่วนที่เปลี่ยนแปลงให้ผู้เรียน ผู้เรียนจะถูกจำกัดในด้านความคิดอิสระ สร้างสรรค์ ข้อดีของการเขียนแบบควบคุมนี้ คือ การป้องกันมิให้ผู้เรียนเขียนผิดตั้งแต่เริ่มต้น กิจกรรมที่นำมาใช้ในการฝึกเขียน เช่น

  • Copying เป็นการฝึกเขียนโดยการคัดลอกคำ ประโยค หรือ ข้อความที่กำหนดให้ ในขณะที่เขียนคัดลอก ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้การสะกดคำ การประกอบคำเข้าเป็นรูปประโยค และอาจเป็นการฝึกอ่านในใจไปพร้อมกัน
  • Gap Filing เป็นการฝึกเขียนโดยเลือกคำที่กำหนดให้ มาเขียนเติมลงในช่องว่างของประโยค ผู้เรียนจะได้ฝึกการใช้คำชนิดต่างๆ (Part of Speech) ทั้งด้านความหมาย และด้านไวยากรณ์
  • Re-ordering Words เป็นการฝึกเขียนโดยเรียบเรียงคำที่กำหนดให้ เป็นประโยค ผู้เรียนได้ฝึกการใช้คำในประโยคอย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และเรียนรู้ความหมายของประโยคไปพร้อมกัน
  • Changing forms of Certain words เป็นการฝึกเขียนโดยเปลี่ยนแปลงคำที่กำหนดให้ในประโยค ให้เป็นรูปพจน์ หรือรูปกาล ต่างๆ หรือ รูปประโยคคำถาม ประโยคปฏิเสธ ฯลฯ ผู้เรียนได้ฝึกการเปลี่ยนรูปแบบของคำได้อย่างสอดคล้องกับชนิดและหน้าที่ของ คำในประโยค
  • Substitution Tables เป็นการฝึกเขียนโดยเลือกคำที่กำหนดให้ในตาราง มาเขียนเป็นประโยคตามโครงสร้างที่กำหนด ผู้เรียนได้ฝึกการเลือกใช้คำที่หลากหลายในโครงสร้างประโยคเดียวกัน และได้ฝึกทำความเข้าใจในความหมายของคำ หรือประโยคด้วย
               2. การเขียนแบบกึ่งควบคุม (Less – Controlled Writing) เป็นแบบฝึกเขียนที่มีการควบคุมน้อยลง และผู้เรียนมีอิสระในการเขียนมากขึ้น การฝึกการเขียนในลักษณะนี้ ครูจะกำหนดเค้าโครงหรือรูปแบบ แล้วให้ผู้เรียนเขียนต่อเติมส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ วิธีการนี้ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะความสามารถในการเขียนได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเขียนอย่างอิสระได้ในโอกาสต่อไป กิจกรรมฝึกการเขียนแบบกึ่งอิสระ เช่น
  • Sentence Combining เป็นการฝึกเขียนโดยเชื่อมประโยค 2 ประโยคเข้าด้วยกัน ด้วยคำขยาย หรือ คำเชื่อมประโยค ผู้เรียนได้ฝึกการเขียนเรียบเรียงประโยคโดยใช้คำขยาย หรือคำเชื่อมประโยค ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
  • Describing People เป็นการฝึกการเขียนบรรยาย คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ โดยใช้คำคุณศัพท์แสดงคุณลักษณะของสิ่งที่กำหนดให้ ผู้เรียนได้ฝึกการใช้คำคุณศัพท์ขยายคำนามได้อย่างสอดคล้อง และตรงตามตำแหน่งที่ควรจะเป็น
  • Questions and Answers Composition เป็นการฝึกการเขียนเรื่องราว ภายหลังจากการฝึกถามตอบปากเปล่าแล้ว โดยอาจให้จับคู่แล้วสลับกันถามตอบปากเปล่าเกี่ยวกับเรื่องราวที่กำหนดให้ แต่ละคนจดบันทึกคำตอบของตนเองไว้ หลังจากนั้น จึงให้เขียนเรียบเรียงเป็นเรื่องราว 1 ย่อหน้า ผู้เรียนได้ฝึกการเขียนเรื่องราวต่อเนื่องกัน โดยมีคำถามเป็นสื่อนำความคิด หรือเป็นสื่อในการค้นหาคำตอบ ผู้เรียนจะได้มีข้อมูลเป็นรายข้อที่สามารถนำมาเรียบเรียงต่อเนื่องกันไปได้ อย่างน้อย 1 เรื่อง
  • Parallel Writing เป็นการฝึกการเขียนเรื่องราวเทียบเคียงกับเรื่องที่อ่าน โดยเขียนจากข้อมูล หรือ ประเด็นสำคัญที่กำหนดให้ ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับความหมายและโครงสร้างประโยค ของเรื่องที่อ่าน เมื่อผู้เรียนได้อ่านเรื่องและศึกษารูปแบบการเขียนเรียบเรียงเรื่องนั้นแล้ว ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลหรือประเด็นที่กำหนดให้มาเขียนเลียนแบบ หรือ เทียบเคียงกับเรื่องที่อ่านได้
  • Dictation เป็นการฝึกเขียนตามคำบอก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่วัดความรู้ ความสามารถของผู้เรียนในหลายๆด้าน เช่น การสะกดคำ ความเข้าใจด้านโครงสร้างประโยค ไวยากรณ์ รวมถึงความหมายของคำ ประโยค หรือ ข้อความที่เขียน
               3. การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing) เป็นแบบฝึกเขียนที่ไม่มีการควบคุมแต่อย่างใด ผู้เรียนมีอิสระเสรีในการเขียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิด จินตนาการอย่างกว้างขวาง การเขียนในลักษณะนี้ ครูจะกำหนดเพียงหัวข้อเรื่อง หรือ สถานการณ์ แล้วให้ผู้เรียนเขียนเรื่องราวตามความคิดของตนเอง วิธีการนี้ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะความสามารถในการเขียนได้เต็มที่ ข้อจำกัดของการเขียนลักษณะนี้ คือ ผู้เรียนมีข้อมูลที่เป็นคลังคำ โครงสร้างประโยค กระสวนไวยากรณ์เป็นองค์ความรู้อยู่ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การเขียนอย่างอิสระนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร 

เทคนิคการสอนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ (Reading Skill)

การอ่านภาษาอังกฤษ  มี 2  ลักษณะ คือ  การอ่านออกเสียง (Reading aloud) และ การอ่านในใจ  (Silent Reading )  การอ่านออกเสียงเป็นการอ่านเพื่อฝึกความถูกต้อง (Accuracy)  และความคล่องแคล่ว ( Fluency)  ในการออกเสียง  ส่วนการอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่านซึ่งเป็นการอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย เช่นเดียวกับการฟัง  ต่าง กันที่ การฟังใช้การรับรู้จากเสียงที่ได้ยิน ในขณะที่การอ่านจะใช้การรับรู้จากตัวอักษรที่ผ่านสายตา ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญและ มีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้  ด้วยเทคนิควิธีการโดยเฉพาะ  ครูผู้สอนจึงควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการอ่านให้แก่ผู้เรียนอย่างไรเพื่อให้การอ่านแต่ละลักษณะประสบผลสำเร็จ
 เทคนิควิธีปฏิบัติ
1. การอ่านออกเสียง   การฝึกให้ผู้เรียนอ่านออกเสียงได้อย่าง ถูกต้อง และคล่องแคล่ว ควรฝึกฝนไปตามลำดับ โดยใช้เทคนิควิธีการ ดังนี้
                (1)  Basic Steps of Teaching (BST)   มีเทคนิคขั้นตอนการฝึกต่อเนื่องกันไปดังนี้
- ครูอ่านข้อความทั้งหมด 1 ครั้ง / นักเรียนฟัง
             - ครูอ่านทีละประโยค / นักเรียนทั้งหมดอ่านตาม
             - ครูอ่านทีละประโยค / นักเรียนอ่านตามทีละคน ( อาจข้ามขั้นตอนนี้ได้ ถ้านักเรียนส่วนใหญ่อ่านได้ดีแล้ว)
             - นักเรียนอ่านคนละประโยค ให้ต่อเนื่องกันไปจนจบข้อความทั้งหมด
             - นักเรียนฝึกอ่านเอง
             - สุ่มนักเรียนอ่าน
    (2)  Reading  for  Fluency ( Chain Reading)   คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนอ่านประโยคคนละประโยคอย่างต่อเนื่องกันไป เสมือนคนอ่านคนเดียวกัน  โดยครูสุ่มเรียกผู้เรียนจากหมายเลขลูกโซ่  เช่น ครูเรียก Chain-number One  นักเรียนที่มีหมายเลขลงท้ายด้วย 1,11,21,31,41, 51  จะเป็นผู้อ่านข้อความคนละประโยคต่อเนื่องกันไป หากสะดุดหรือติดขัดที่ผู้เรียนคนใด ถือว่าโซ่ขาด  ต้องเริ่มต้นที่คนแรกใหม่ หรือ เปลี่ยน Chain-number ใหม่
    (3)  Reading and Look up คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนแต่ละคน อ่านข้อความโดยใช้วิธี อ่านแล้วจำประโยคแล้วเงยหน้าขึ้นพูดประโยคนั้นๆ อย่างรวดเร็ว คล้ายวิธีอ่านแบบนักข่าว
    (4)  Speed Reading   คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนแต่ละคน อ่านข้อความโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ การอ่านแบบนี้ อาจไม่คำนึงถึงความถูกต้องทุกตัวอักษร แต่ต้องอ่านโดยไม่ข้ามคำ เป็นการฝึกธรรมชาติในการอ่านเพื่อความคล่องแคล่ว (Fluency) และเป็นการหลีกเลี่ยงการอ่านแบบสะกดทีละคำ
    (5)  Reading for Accuracy   คือ การฝึกอ่านที่มุ่งเน้นความถูกต้องชัดเจนในการออกเสียง ทั้ง stress / intonation / cluster / final sounds ให้ตรงตามหลักเกณฑ์ของการออกเสียง (Pronunciation) โดยอาจนำเทคนิค Speed Reading   มาใช้ในการฝึก และเพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการออกเสียงสิ่งที่ต้องการ จะเป็นผลให้ผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านได้อย่างถูกต้อง (Accuracy) และ คล่องแคล่ว (Fluency) ควบคู่กันไป
2.  การอ่านในใจ     ขั้นตอนการสอนทักษะการอ่าน มีลักษณะเช่นเดียวกับขั้นตอนการสอนทักษะการฟัง โดยแบ่งเป็น  3   กิจกรรม  คือ   กิจกรรมนำเข้าสู่การอ่าน ( Pre-Reading)  กิจกรรมระหว่างการอ่าน หรือ ขณะที่สอนอ่าน (While-Reading) กิจกรรมหลังการอ่าน (Post-Reading)   แต่ละกิจกรรมอาจใช้เทคนิค ดังนี้
  กิจกรรมนำเข้าสู่การอ่าน ( Pre-Reading)     
การที่ผู้เรียนจะอ่านสารได้อย่างเข้าใจ ควรต้องมีข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับสารที่จะได้อ่าน โดยครูผู้สอนอาจใช้กิจกรรมนำให้ผู้เรียนได้มีข้อมูลบางส่วนเพื่อช่วยสร้าง ความเข้าใจในบริบท ก่อนเริ่มต้นอ่านสารที่กำหนดให้ โดยทั่วไป มี 2 ขั้นตอน คือ
- ขั้น Personalization เป็น ขั้นสนทนา โต้ตอบ ระหว่างครู กับผู้เรียน หรือ ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน เพื่อทบทวนความรู้เดิมและเตรียมรับความรู้ใหม่จากการอ่าน
- ขั้น Predicting เป็น ขั้นที่ให้ผู้เรียนคาดเดาเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่าน โดยอาจใช้รูปภาพ แผนภูมิ หัวเรื่อง ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะได้อ่าน แล้วนำสนทนา หรือ อภิปราย หรือ หาคำตอบเกี่ยวกับภาพนั้น ๆ หรือ อาจฝึกกิจกรรมที่เกี่ยวกับคำศัพท์ เช่น ขีดเส้นใต้ หรือวงกลมล้อมรอบคำศัพท์ในสารที่อ่าน หรือ  อ่านคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่จะได้อ่าน เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบแนวทางว่าจะได้อ่านสารเกี่ยวกับเรื่องใด  เป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อมูลประกอบการอ่าน และค้นหาคำตอบที่จะได้จากการอ่านสารนั้นๆ  หรือ ทบทวนคำศัพท์จากความรู้เดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะปรากฏในสารที่จะได้อ่าน โดยอาจใช้วิธีบอกความหมาย  หรือทำแบบฝึกหัดเติมคำ ฯลฯ
  กิจกรรมระหว่างการอ่าน  
กิจกรรมขณะที่สอนอ่าน ( While-Reading)  เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในขณะที่อ่านสารนั้น  กิจกรรมนี้มิใช่การทดสอบการอ่าน  แต่เป็นการ ฝึกทักษะการอ่านเพื่อความเข้าใจ”  กิจกรรมระหว่างการอ่านนี้  ควรหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติทักษะอื่นๆ  เช่น  การฟัง  หรือ  การเขียน  อาจจัดกิจกรรมให้พูดโต้ตอบได้บ้างเล็กน้อย  เนื่องจากจะเป็นการเบี่ยงเบนทักษะที่ต้องการฝึกไปสู่ทักษะอื่นโดยมิได้เจตนา   กิจกรรมที่จัดให้ในขณะฝึกอ่าน  ควรเป็นประเภทต่อไปนี้
- Matching   คือ อ่านแล้วจับคู่คำศัพท์ กับ คำจำกัดความ หรือ จับคู่ประโยค เนื้อเรื่องกับภาพ แผนภูมิ
- Ordering   คือ อ่านแล้วเรียงภาพ แผนภูมิ ตามเนื้อเรื่องที่อ่าน หรือ เรียงประโยค (Sentences) ตามลำดับเรื่อง หรือเรียงเนื้อหาแต่ละตอน (Paragraph) ตามลำดับของเนื้อเรื่อง
- Completing คือ อ่านแล้วเติมคำ สำนวน ประโยค   ข้อความ ลงในภาพ แผนภูมิ ตาราง ฯลฯ ตามเรื่องที่อ่าน
- Correcting    คือ อ่านแล้วแก้ไขคำ สำนวน ประโยค ข้อความ ให้ถูกต้องตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่าน
- Deciding   คือ อ่านแล้วเลือกคำตอบที่ถูกต้อง (Multiple Choice)   หรือ เลือกประโยคถูกผิด (True/False) หรือ เลือกว่ามีประโยคนั้นๆ ในเนื้อเรื่องหรือไม่ หรือ เลือกว่าประโยคนั้นเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือ เป็นความคิดเห็น (Opinion)
- Supplying / Identifying   คือ  อ่านแล้วหาประโยคหัวข้อเรื่อง ( Topic  Sentence)  หรือ สรุปใจความสำคัญ( Conclusion)  หรือ จับใจความสำคัญ ( Main Idea) หรือตั้งชื่อเรื่อง (Title)  หรือ ย่อเรื่อง (Summary)  หรือ หาข้อมูลรายละเอียดจากเรื่อง ( Specific  Information) 
  กิจกรรมหลังการอ่าน (Post-Reading)    
เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ภาษาในลักษณะทักษะสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจากการอ่าน  ทั้งการฟัง  การพูดและการเขียน ภายหลังที่ได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมระหว่างการอ่านแล้ว  โดยอาจฝึกการแข่งขันเกี่ยวกับคำศัพท์  สำนวน ไวยากรณ์ จากเรื่องที่ได้อ่าน  เป็นการตรวจสอบทบทวนความรู้  ความถูกต้องของคำศัพท์  สำนวน  โครงสร้างไวยากรณ์  หรือ ฝึกทักษะการฟังการพูดโดยให้ผู้เรียนร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แล้วช่วยกันหาคำตอบ สำหรับผู้เรียนระดับสูง อาจให้พูดอภิปรายเกี่ยวกับอารมณ์หรือเจตคติของผู้เขียนเรื่องนั้น  หรือฝึกทักษะการเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ได้อ่าน  เป็นต้น

ตัวอย่างแผนการสอน

Unit: Community   Topic: Famous People   M.6
      Part 1/ Part 2



VDO สาธิตการสอน Reading Skill

Unit: Community   Topic: Famous People   M.6
Presentation
 
While-Reading

Post-Reading
     
      

เทคนิคการสอนทักษะการพูดภาษาอังกฤษ (Speaking Skill)

 
( วิดีโอสาธิตแผนการสอน Speaking Skill ขั้น Presentation)
                   การสอนภาษาทุกภาษา มีธรรมชาติของการเรียนรู้เช่นเดียวกัน คือ เริ่มจากการฟัง และการพูด  แล้วจึงไปสู่การอ่านและการเขียน ตามลำดับ การสอนทักษะการพูดภาษาอังกฤษในเบื้องต้น  มุ่งเน้นความถูกต้องของการใช้ภาษา (Accuracy)  ในเรื่องของเสียงคำศัพท์  (Vocabulary) ไวยากรณ์ (Grammar)   กระสวนประโยค (Patterns)  ดังนั้น  กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนระดับต้นได้ฝึกทักษะการพูด  จึงเน้นกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องฝึกปฏิบัติตามแบบ หรือ ตามโครงสร้างประโยคที่กำหนดให้พูดเป็นส่วนใหญ่  สำหรับผู้เรียนระดับสูง กิจกรรมฝึกทักษะการพูด จึงจะเน้นที่ความคล่องแคล่วของการใช้ภาษา (Fluency) และ จะเป็นการพูดแบบอิสระมากขึ้น  เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการพูด คือ การสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยการพูดอย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว  ครูผู้สอนจึงควรมีความรู้และความสามารถอย่างไร  จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการพูดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างสอด คล้องกับระดับและศักยภาพของผู้เรียน
                  เทคนิควิธีปฏิบัติ  
              กิจกรรมการฝึกทักษะการพูด มี  3  รูปแบบ   คือ
       1. การฝึกพูดระดับกลไก (Mechanical  Drills)  เป็นการฝึกตามตัวแบบที่กำหนดให้ในหลายลักษณะ  เช่น
                - พูดเปลี่ยนคำศัพท์ในประโยค (Multiple Substitution Drill) 
                - พูดตั้งคำถามจากสถานการณ์ในประโยคบอกเล่า (Transformation  Drill)
                - พูดถามตอบตามรูปแบบของประโยคที่กำหนดให้ (Yes/No  Question-Answer Drill)
                - พูดสร้างประโยคต่อเติมจากประโยคที่กำหนดให้  (Sentence  Building)
                - พูดคำศัพท์  สำนวนในประโยคที่ถูกลบไปทีละส่วน  (Rub out and Remember)
                - พูดเรียงประโยคจากบทสนทนา (Ordering  dialogues)
                - พูดทายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในบทสนทนา (Predicting  dialogue)
                - พูดต่อเติมส่วนที่หายไปจากประโยค  (Completing Sentences )
                - พูดให้เพื่อนเขียนตามคำบอก  (Split  Dictation) ฯลฯ
        2. การฝึกพูดอย่างมีความหมาย ( Meaningful  Drills)  เป็นการฝึกตามตัวแบบที่เน้นความหมายมากขึ้น มีหลายลักษณะ  เช่น  
                - พูดสร้างประโยคเปรียบเทียบโดยใช้รูปภาพ
                - พูดสร้างประโยคจากภาพที่กำหนดให้
                - พูดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน  ฯลฯ
       3. การฝึกพูดเพื่อการสื่อสาร  (Communicative  Drills)  เป็นการฝึกเพื่อมุ่งเน้นการสื่อสารเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างคำตอบตามจินตนาการ  เช่น
                - พูดประโยคตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  (Situation)
                - พูดตามสถานการณ์ที่กำหนดให้  ( Imaginary  Situation)
                - พูดบรรยายภาพหรือสถานการณ์แล้วให้เพื่อนวาดภาพตามที่พูด   (Describe  and Draw)  


ตัวอย่างแผนการสอน
  
Unit: Occupation    Topic: Future Career  P.6 




 VDO สาธิตการสอน Speaking Skill

Unit: Occupation    Topic: Future Career  P.6

While-Speaking 

 
  Song



Game

กิจกรรมที่ใช้ในการสอนทักษะการฟัง ( Listening Skill )

              การฟังเป็นทักษะที่สำคัญที่จะนำไปสู่ทักษะการพูด การอ่าน การเขียน การฟังมี 2 ระดับ คือ ระดับต้น เน้นการฟังเสียงคำ วลี และสามารถอ่านได้ถูกต้อง และระดับที่สอง คือ การฟังประโยค เรื่องราว  เพื่อความเข้าใจ ซึ่งทั้งสองระดับต้องให้ความสำคัญ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
 
เทคนิควิธีปฏิบัติ

                กิจกรรมที่จะทำไปสู่การฟังให้เกิดทักษะ และได้ข้อมูลครบถ้วนตรงกับที่ต้องการจะสื่อนั้น ผู้ฟังต้องมีความรู้พื้นฐาน ภูมิหลังและความคาดหวังล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งครูผู้สอนได้จัดกิจกรรมดังต่อไปนี้
          1. กิจกรรมก่อนการสอนฟัง
                 - เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการสอน เช่นของจริง บัตรคำ บัตรภาพ เทปบันทึกเสียง
                 - ทบทวนความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ใหม่
                 - เสนอศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะสอน โดยใช้อุปกรณ์ประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
          2. กิจกรรมระหว่างสอน
                - เน้นการฟังให้มากที่สุด อย่าให้ผู้เรียนเขียนมาก หรืออ่านข้อความเพื่อตอบคำถามจากการฟัง เพราะนักเรียนจะไปสนใจในสิ่งอื่น ๆ ควรใช้กิจกรรม เช่นการเช็ครูปภาพตามข้อความที่ครูอ่าน การเรียงลำดับภาพโดยใช้หมายเลขกำกับ การเลือกรูปภาพให้ตรงกับคำบรรยาย การต่อเติมภาพให้สมบูรณ์ตามเรื่องที่ได้ฟัง การแสดงท่าทางประกอบกิจกรรมที่ได้ฟัง และอาจเพิ่มกิจกรรมที่นำไปสู่การพูดและเขียน เช่น Listen and repeat , Listen and find mistakes, Listen and compare เป็นต้น
           3. กิจกรรมหลังการฟัง
                - ให้นักเรียนตอบคำถาม อาจจะเป็นคำสั้น ๆ หรือแบบมีตัวเลือกตอบ
                - แสดงบทบาทสมมุติ
                - เขียนตามคำบอกโดยให้นักเรียนดำเนินการกันเองโดยแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ดำเนินการอ่านเรื่องกันเอง / ตั้งคำถาม / ตอบ / เขียนเรื่อง / ตรวจสอบแก้ไขด้วยตนเอง 


ตัวอย่างแผนการสอน
  
  
  Unit: Culture     Topic: Local Wisdom   
        Sub-topic: Beliefs  M.3 
             Part 1 / Part 2

VDO สาธิตการสอน Listening Skill

Unit: Family    Topic: Pets     P. 4

Presentation

While-Listening

Post-Listening




Song





Game

http://www.elllo.org/english/Games/../../SwiffGames/039-Pets.swf